บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

ข้อสอบวรรณยุกต์ไทย ชุดที่ 3

ขอให้ท่านทำข้อสอบก่อน โดยจดคำตอบไว้ แล้วไปดูเฉลยด้านล่าง

ข้อที่  1. ข้อใดบอกเสียงวรรณยุกต์ของคำต่อไปนี้ถูกต้อง นุชกับนาถถูกน็อค
ก.  สามัญ สามัญ สามัญ สามัญ สามัญ
ข.  ตรี เอก โท เอก ตรี
ค.  เอก เอก เอก เอก ตรี
ง.  เอก เอก โท เอก โท

ข้อที่  2. ข้อใดมีเสียงวรรณยุกต์ตามลำดับต่อไปนี้ สามัญ เอก โท ตรี จัตวา
ก.  พลเอกลาภนัดหมาย
ข.  พันจ่าฟ้องนายก
ค.  พลชาติชายร้องหา
ง.  พลชาญท่านรู้จัก

ข้อที่  3. ข้อใดมีเสียงวรรณยุกต์ตามลำดับต่อไปนี้ จัตวา ตรี โท เอก สามัญ
ก.  ไหนพูดใหม่ทีสิ
ข.  สาวร้องไห้ขาดใจ
ค.  หวีเล็กนี้ของใคร
ง.  ไหลลดเลี้ยวเหลี่ยมเขา

ข้อที่  4. ข้อใดมีเสียงวรรณยุกต์ตามลำดับต่อไปนี้ ตรี ตรี ตรี เอก โท
ก.  เลิกนัดกับนุชนะ
ข.  นัทรักพุดจีบจ้ะ
ค.  เชือกมัดหมดอีกแล้ว
ง.  แคล้วคลาดฟาดหมดเคราะห์

เฉลย

ข้อที่  1. ข้อใดบอกเสียงวรรณยุกต์ของคำต่อไปนี้ถูกต้อง “นุชกับนาถถูกน็อค”
ก.  สามัญ สามัญ สามัญ สามัญ สามัญ
ข.  ตรี เอก โท เอก ตรี
ค.  เอก เอก เอก เอก ตรี
ง.  เอก เอก โท เอก โท


วิเคราะห์
ในการหาคำตอบข้อนี้ เราดูเสียงวรรณยุกต์ของคำว่า “นุช” ก่อน แล้วจึงไปเปรียบเทียบกับคำตอบ ข้อไหนไม่ใช่เสียงที่ตรงกัน ข้อนั้นผิดแน่นอน
ต่อจากนั้น จึงหาเสียงวรรณยุกต์ของคำว่า “กับ” แล้วไปเปรียบเทียบ
ไม่ต้องไปหาเสียงวรรณยุกต์ของ “นุชกับนาถถูกน็อค” ให้ครบเสียก่อน เพราะ มันจะเสียเวลาในการทำข้อสอบไปโดยใช่เหตุ

การทำข้อสอบแบบที่ 1  ใช้มือวิเศษ
 อย่างที่ผมบอกไปแล้วว่า ในการทำเสียงวรรณยุกต์ภาษาไทยนั้น ทุกคำสามารถทำเป็น 5 เสียงได้ทั้งสิ้น อยู่ที่การฝึกฝน  แต่ในการเขียนเสียงนั้น หลายๆ คำ เราเขียนไม่ได้ เพราะ ไม่มีตัวเขียน
คำว่า “นุช” นั้น ทำได้ 5 เสียงดังนี้

[ไม่มีตัวเขียน]     [หนุช]      [นุ่ช]      [นุช]      [นุ๋ช]

จะเห็นว่า “นุช” มีเสียงวรรณยุกต์ตรี  เมื่อดูจากตัวเลือก ข้อ ข. จึงเป็นคำตอบที่ถูกต้อง โดยไม่ต้องไปดูข้ออื่นอีก

การทำข้อสอบแบบที่ 2 ใช้ตารางเทียบเสียงวรรณยุกต์
จะเห็นว่า “นุช” เป็นอักษรต่ำ คำตาย สระเสียงสั้น และเป็นพื้นเสียงด้วย  และมีเสียงตรี

ใครถนัดทำข้อสอบข้อนี้แบบไหน ก็เลือกเอาเอง  ข้อให้ใช้เวลาให้สั้นที่สุดก็แล้วกัน

ข้อที่  2. ข้อใดมีเสียงวรรณยุกต์ตามลำดับต่อไปนี้ “สามัญ เอก โท ตรี จัตวา”
ก.  พลเอกลาภนัดหมาย
ข.  พันจ่าฟ้องนายก
ค.  พลชาติชายร้องหา
ง.  พลชาญท่านรู้จัก

วิเคราะห์
โจทย์ให้เสียงวรรณยุกต์ เริ่มด้วยวรรณยุกต์สามัญ  เราก็ไปดูตัวเลือกว่า ข้อใดบ้างเป็นเสียงสามัญ  ถ้าไม่ใช่ข้อนั้นผิด
ปรากฏว่า  “พล พัน” เป็นเสียงสามัญทั้งหมด
ต่อไปดูคำที่สอง “เอก  จ่า  ชาติ  ชาญ” ว่าคำใดเป็นเสียงวรรณยุกต์เอกบ้าง
ปรากฏว่า “เอก จ่า” เป็นเสียงวรรณยุกต์เอก  ชาติ” เป็นเสียงวรรณยุกต์โท  ชาญ” เป็นเสียงวรรณยุกต์สามัญ
ดังนั้น ข้อ ค. กับ ข้อ ง. ผิดแน่นอน เหลือให้เลือกคือ ข้อ ก. กับ ข้อ ข.
เรามาดูว่า “ลาภ  ฟ้อง”  คำใดเป็นเสียงวรรณยุกต์โท
ปรากฏว่า “ลาภ”  เป็นเสียงวรรณยุกต์โท  ส่วน  “ฟ้อง”  เป็นเสียงวรรณยุกต์ตรี
ดังนั้น คำตอบที่ถูกต้องในข้อนี้คือ ข้อ ก.

ข้อที่  3. ข้อใดมีเสียงวรรณยุกต์ตามลำดับต่อไปนี้ “จัตวา ตรี โท เอก สามัญ”
ก.  ไหนพูดใหม่ทีสิ
ข.  สาวร้องไห้ขาดใจ
ค.  หวีเล็กนี้ของใคร
ง.  ไหลลดเลี้ยวเหลี่ยมเขา

วิเคราะห์
โจทย์ให้เสียงวรรณยุกต์ เริ่มด้วยวรรณยุกต์จัตวา  เราก็ไปดูตัวเลือกว่า ข้อใดบ้างเป็นเสียงจัตวา  ถ้าไม่ใช่ ข้อนั้นผิด
ปรากฏว่า  “ไหน  สาว  หวี  ไหล” เป็นเสียงวรรณยุกต์จัตวาทั้งหมด
ต่อไปดูคำที่สอง “พูด  ร้อง  เล็ก  ลด” ว่าคำใดเป็นเสียงวรรณยุกต์ตรีบ้าง
ปรากฏว่า “ร้อง  เล็ก  ลด” เป็นเสียงวรรณยุกต์ตรี  พูด” เป็นเสียงวรรณยุกต์โท  ดังนั้น ข้อ ก. ผิดแน่ๆ
ต่อไปดูคำที่สาม “ไห้ นี้ เลี้ยว” ว่าคำใดเป็นเสียงวรรณยุกต์โทบ้าง
ปรากฏว่า “ไห้” เป็นเสียงวรรณยุกต์โท  “นี้ เลี้ยว”” เป็นเสียงวรรณยุกต์ตรี  ดังนั้น ข้อ ค. กับ ข้อ ง  ผิดแน่ๆ
ดังนั้น คำตอบที่ถูกต้องในข้อนี้คือ ข้อ ข.

ข้อที่  4. ข้อใดมีเสียงวรรณยุกต์ตามลำดับต่อไปนี้ “ตรี ตรี ตรี เอก โท”
ก.  เลิกนัดกับนุชนะ
ข.  นัทรักพุดจีบจ้ะ
ค.  เชือกมัดหมดอีกแล้ว
ง.  แคล้วคลาดฟาดหมดเคราะห์

วิเคราะห์
ข้อนี้ เราจะมาลองทำวิธีใหม่ คือ ดูเสียงท้ายก่อนก็ได้  คือ โจทย์กำหนดเสียงวรรณยุกต์โทเป็นคำสุดท้าย เรามาดูคำสุดท้ายก่อนก็ได้
คำว่า  “นะ  จ้ะ  แล้ว  เคราะห์” นั้น  มีคำว่า “จ้ะ” คำเดียวที่เป็นวรรณยุกต์เสียงโท  ที่เหลือเป็นวรรณยุกต์เสียงตรีทั้งหมด
ดังนั้น คำตอบที่ถูกต้องในข้อนี้คือ ข้อ ข.

เทคนิคการจำ
อักษรสูงกับอักษรกลาง ถ้ามีเครื่องหมายวรรณยุกต์ใด เสียงวรรณยุกต์จะตรงกัน  ส่วนอักษรต่ำ ถ้ามีเครื่องหมายวรรณยุกต์เอกจะเป็นเสียงวรรณยุกต์โท  ถ้ามีเครื่องหมายวรรณยุกต์โทจะเป็นเสียงวรรณยุกต์ตรี
ส่วนคำพื้นเสียงที่ไม่มีเครื่องหมายวรรณยุกต์ต้องจำเอา





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น